โรคมือเท้าปากคืออะไร ?
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน เป็นโรคที่ทำให้ เด็กมีไข้ และผื่น ที่มือ ที่เท้า และในปาก เด็กจะทานไม่ค่อยได้ โรคนี้รักษาตามอาการและสามารถ หายได้เอง และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
สาเหตุโรค มือ เท้า ปาก
เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) หลายชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 และ คอกแซคกี้ไวรัส (Coxsackie virus) พบบ่อยในเด็กทารก และ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ใน โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ โดยโรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน
การแพร่ติดต่อ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการใน 7 วันแรก โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ผื่นตุ่มน้ำใส และอุจจาระของผู้ป่วย เชื้ออาจจะแพร่กระจายโดยผ่านทางมือผู้ที่สัมผัสกัน เช่น การเปลี่ยนผ้าของเด็กเล็ก สารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส และเกิดจากการไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย
และสามารถติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสของเล่น อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ
อาการของโรค
หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วย มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ ไม่ทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และ กระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนแดงเล็ก (ไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ลำตัว และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน
หมายเหตุ: หากมีผื่นขึ้นเฉพาะในปาก จะเรียกว่า โรค Herpangina (เฮอร์แปงไจน่า) ถ้าขึ้นครบ 3 ที่ คือ มือ เท้า ปาก เรียก โรคมือเท้าและปาก หรือ บางรายตุ่มขึ้นตามตัว ก้น ได้
การรักษา
* โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก
* ผู้ปกครอง ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ
* สามารถให้ทานของเย็น น้ำเย็นๆ น้ำแข็ง ไอศกรีมได้ เพื่อลดอาการเจ็บปาก
* ส่วนใหญ่โรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน หายได้เองใน 7-10 วัน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไป โรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันโรค
โรคนี้ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ (ก่อนและหลังเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และ ใช้ช้อนกลาง
สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย
โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
โรคนี้ มีวัคซีนป้องกัน โรคมือเท้าปากแล้ว ซึ่งป้องกันได้เฉพาะ Enterovirus 71 ซึ่งเป็นสายพันธ์ุ ที่รุนแรง พบไม่ได้บ่อย ไม่ได้ป้องกันเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากจากสายพันธ์ุอื่น เช่น Coxsackie Virus ฉีดแล้วยังสามารถเป็นโรคมือ เท้าปาก อีกได้หากคนละชนิด วัคซีนนี้เป็นวัคซีนเชื้อตาย ผลิตจากประเทศจีน มีความปลอดภัยสูงโดยแนะนำฉีด ในเด็ก อายุ 6 เดือน – 5 ปี ฉีด 2 เข็ม เข้ากล้ามเนื้อ ห่าง 1 เดือน
อย่างไรก็ตามวัคซีน ชนิดนี้ ยังเป็นวัคซีนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย ประมาณ เดือน สิงหาคม 2565 และผ่าน การรับรอง อ.ย แล้ว โดยสามารถป้องกัน อาการรุนแรงจากเชื้อ EV 71 ได้ ถึง 97.3 % และ ป้องกันอัตราการเสียชีวิตได้ 100% ผู้ปกครองสามารถสอบถามวัคซีนได้ที่ โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกใกล้บ้าน
การควบคุมโรค
หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อเด็กเป็นควรแจ้งคุณครู หากพบมีเด็กในห้องเป็นมากกว่า 3 คนขึ้นไป ควรพิจาณาปิดห้องเรียนเพื่อทำความสะอาด
ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก ปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกันและผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
ขอบคุณบทความโดย
พ.ญ พิมพิกา ตันติธรรมวงศ์
กุมารแพทย์ประจำ พิมพิกาคลินิก